แอ่วเมืองปัว ทัวร์เมืองน่าน


แอ่วเมืองปัว ทัวร์เมืองน่าน




อำเภอปัว จังหวัดน่าน พื้นที่ที่เป็นจุดพบกันของที่ราบและขุนเขาในแดดสายจางคลายลมหนาว ทางหลวงหมายเลข 1080 นำเรามาจากเมืองน่านอย่างเชื่องช้า ด้วยภาพทางตาของไม้ใหญ่ ทิวดอย และชีวิตอันน่ารื่นรมย์จนละเลยเรื่องการเคลื่อนของเข็มนาฬิกา นาทีท้าย ๆ หลังลัดเนินลงสู่หย่อมบ้านเรือนริมไฮเวย์ มองออกไปตามกายภาพที่ราบบรรจุพื้นที่ทางการเกษตรและกลุ่มหมู่บ้าน รอบล้อมด้วยปราการขุนเขาทับซ้อนสุดลูกหูลูกตาก็ปรากฏ ทว่ายามลงไปหามันจริง ๆ ก็คล้ายปัวได้ผ่านพ้นห้วงยามแห่งความชื่นมื่นไปสักระยะหนึ่ง ในนาเหลือเพียงซังตอหลังฤดูเก็บเกี่ยว ขณะกล้าพันธุ์ถั่วเหลือง ผัก ข้าวโพด และยาสูบถึงเวลาแตกยอด

          เมืองสีเขียวในหุบเขาที่เราต่างวาดหวังจะมาถึง ขณะนี้เหลือเพียงที่ราบสีน้ำตาลแผ่ไพศาล ไอหมอกยามเช้าอ้อยอิ่งอยู่เพียงครู่ ก่อนสลายตัวตัวตนไปพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวอันหลากหลายของผู้คนแห่งหุบดอย ซึ่งเราค่อย ๆ ประติดปะต่อมันผ่านลมหนาว รวมไปถึงรอยยิ้มและชีวิตสุขสงบของพวกเขา ขณะที่ทิวดอยโอบล้อมยังคงเต็มไปด้วยความอบอุ่น

1. ความคึกคักตรงสามแยกหลักตลาดปัวค่อย ๆ จางคลายโลกอีกหลายใบคล้ายรอการเข้าไปทำความรู้จัก

          ใครต่อใครเมื่อมาถึงปัวมักกล่าวถึงผู้คนของขุนเขาที่ต่างก็เต็มไปด้วยหลากหลายที่มา พกพาวัฒนธรรมและความคิดความเชื่อมาร่วมกันปักรากฝากชีวิตลง ณ ที่แห่งนี้ กล่าวถึงเมืองโบราณในหุบเขา พื้นที่ราว 882,192 ไร่แห่งนี้ ตกทอดอดีตมาแต่ พ.ศ. 1825 มักถูกกล่าวถึงในตำนานและจารจารึกของเมืองน่าน ชุมชนเก่าแก่ในขุนเขาภายใต้การนำของพญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ได้ก่อร่างสร้างชุมชนขึ้น ว่ากันว่าจากร่องรอยคูน้ำ คันดิน ทำให้เชื่อกันว่าต้นกำเนิดของเมืองย่างคือดินแดนฝั่งใต้ของสายน้ำย่าง แถบเทือกดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว อำเภอท่าวังผา

เรื่องราวนำพาเราย้อนไปในอดีต ราชบุตรบุญธรรมของพญาภูคา 2 คน อย่างขุนนุ่นและขุนฟอง คือผู้ทำให้อาณาเขตเมืองในหุบเขาแผ่ขยาย โดยขุ่นนุ่นซึ่งเป็นผู้ที่ได้ไปสร้างเมืองจันทรบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ในทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง ส่วนขุนฟองได้ลงหลักแปลงเมืองในเขตอำเภอปัวในปัจจุบันในชื่อ "วรนคร" อันสื่อความหมายถึงชัยภูมิที่ดี และเป็นการเริ่มต้นลงหลักของรางวงศ์ภูคาในหน้าประวัติศาสตร์

          เมืองวรนครผ่านพ้นตัวตนในความเติบโต จากยุคของเจ้าขุนฟองสู่ยุคของเจ้าเก้าเกื่อนผู้เป็นโอรส สายสัมพันธ์กับพญาภูคาผู้เป็นปู่ตกทอดสู่การปกครองและโยกย้าย ภายหลังเมืองวรนครตกสู่การดูแลของนางพญาแม่ท้าวคำปิน ผู้เป็นชายา และสืบเนื่องถึงเจ้าขุนใสยศ ซึ่งภายหลังได้รวบรวมกำลังไพร่พล ต่อสู้เอาเมืองวรนครจากการปกครองของเมืองพะเยาในห้วงเวลาหนึ่งกลับคืน และหันไปสานสัมพันธไมตรีกับกรุงสุโขทัย ชื่อเมืองวรนครได้เปลี่ยนเป็นชื่อเมืองปัวในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อมา




เมืองปัว…เมื่อชีวิตหลอมระคนกลางขุนเขา
2,688
อ่าน
0
แสดงความเห็น

918

8
เมืองปัว

เมืองปัว


ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          เรามาถึง อำเภอปัว จังหวัดน่าน พื้นที่ที่เป็นจุดพบกันของที่ราบและขุนเขาในแดดสายจางคลายลมหนาว ทางหลวงหมายเลข 1080 นำเรามาจากเมืองน่านอย่างเชื่องช้า ด้วยภาพทางตาของไม้ใหญ่ ทิวดอย และชีวิตอันน่ารื่นรมย์จนละเลยเรื่องการเคลื่อนของเข็มนาฬิกา นาทีท้าย ๆ หลังลัดเนินลงสู่หย่อมบ้านเรือนริมไฮเวย์ มองออกไปตามกายภาพที่ราบบรรจุพื้นที่ทางการเกษตรและกลุ่มหมู่บ้าน รอบล้อมด้วยปราการขุนเขาทับซ้อนสุดลูกหูลูกตาก็ปรากฏ ทว่ายามลงไปหามันจริง ๆ ก็คล้ายปัวได้ผ่านพ้นห้วงยามแห่งความชื่นมื่นไปสักระยะหนึ่ง ในนาเหลือเพียงซังตอหลังฤดูเก็บเกี่ยว ขณะกล้าพันธุ์ถั่วเหลือง ผัก ข้าวโพด และยาสูบถึงเวลาแตกยอด

          เมืองสีเขียวในหุบเขาที่เราต่างวาดหวังจะมาถึง ขณะนี้เหลือเพียงที่ราบสีน้ำตาลแผ่ไพศาล ไอหมอกยามเช้าอ้อยอิ่งอยู่เพียงครู่ ก่อนสลายตัวตัวตนไปพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวอันหลากหลายของผู้คนแห่งหุบดอย ซึ่งเราค่อย ๆ ประติดปะต่อมันผ่านลมหนาว รวมไปถึงรอยยิ้มและชีวิตสุขสงบของพวกเขา ขณะที่ทิวดอยโอบล้อมยังคงเต็มไปด้วยความอบอุ่น

เมืองปัว
วัดคือศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชน ยามเช้าที่วัดร้องแง สามเณรออกบิณฑบาตผ่านอุโบสถหลังงาม

1. ความคึกคักตรงสามแยกหลักตลาดปัวค่อย ๆ จางคลายโลกอีกหลายใบคล้ายรอการเข้าไปทำความรู้จัก

          ใครต่อใครเมื่อมาถึงปัวมักกล่าวถึงผู้คนของขุนเขาที่ต่างก็เต็มไปด้วยหลากหลายที่มา พกพาวัฒนธรรมและความคิดความเชื่อมาร่วมกันปักรากฝากชีวิตลง ณ ที่แห่งนี้ กล่าวถึงเมืองโบราณในหุบเขา พื้นที่ราว 882,192 ไร่แห่งนี้ ตกทอดอดีตมาแต่ พ.ศ. 1825 มักถูกกล่าวถึงในตำนานและจารจารึกของเมืองน่าน ชุมชนเก่าแก่ในขุนเขาภายใต้การนำของพญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ได้ก่อร่างสร้างชุมชนขึ้น ว่ากันว่าจากร่องรอยคูน้ำ คันดิน ทำให้เชื่อกันว่าต้นกำเนิดของเมืองย่างคือดินแดนฝั่งใต้ของสายน้ำย่าง แถบเทือกดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว อำเภอท่าวังผา

เมืองปัว

เมืองปัว
วัดต้นแหลงงดงามด้วยงานตกแต่งศิลปะไทยลื้อพื้นบ้าน ทั้งงานไม้และด้านในพระอุโบสถ

เมืองปัว
งานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว แถบท่าวังผา

          เรื่องราวนำพาเราย้อนไปในอดีต ราชบุตรบุญธรรมของพญาภูคา 2 คน อย่างขุนนุ่นและขุนฟอง คือผู้ทำให้อาณาเขตเมืองในหุบเขาแผ่ขยาย โดยขุ่นนุ่นซึ่งเป็นผู้ที่ได้ไปสร้างเมืองจันทรบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ในทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง ส่วนขุนฟองได้ลงหลักแปลงเมืองในเขตอำเภอปัวในปัจจุบันในชื่อ "วรนคร" อันสื่อความหมายถึงชัยภูมิที่ดี และเป็นการเริ่มต้นลงหลักของรางวงศ์ภูคาในหน้าประวัติศาสตร์

          เมืองวรนครผ่านพ้นตัวตนในความเติบโต จากยุคของเจ้าขุนฟองสู่ยุคของเจ้าเก้าเกื่อนผู้เป็นโอรส สายสัมพันธ์กับพญาภูคาผู้เป็นปู่ตกทอดสู่การปกครองและโยกย้าย ภายหลังเมืองวรนครตกสู่การดูแลของนางพญาแม่ท้าวคำปิน ผู้เป็นชายา และสืบเนื่องถึงเจ้าขุนใสยศ ซึ่งภายหลังได้รวบรวมกำลังไพร่พล ต่อสู้เอาเมืองวรนครจากการปกครองของเมืองพะเยาในห้วงเวลาหนึ่งกลับคืน และหันไปสานสัมพันธไมตรีกับกรุงสุโขทัย ชื่อเมืองวรนครได้เปลี่ยนเป็นชื่อเมืองปัวในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อมา

เมืองปัว

เมืองปัว

2. หันหลังให้กาลเวลาอันเลยผ่าน หมู่บ้านเล็ก ๆ นับสิบแห่งกระจายเรียงรายกันตามเนินเขา ซึ่งต่างก็จมอยู่ในวงล้อมแห่งเทือกเขาดอยภูคา

          ทางหลวงหมายเลข 1256 พาใครมาสักคนมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ณ ที่ซึ่งผู้คนบางเชื่อชาติได้ปักหลักอยู่ที่นี่มาเนิ่นนานยาวไกล ถนนสายนั้นลับหายขึ้นไปในความชันของดอยภูคา ขณะที่ตีนดอยเบื้องล่าง บ้านร้องแง คือ ภาพสามัญอันสั่งสมของคนแห่งเมืองปัวจำนวนหนึ่ง อดีตของพวกเขายาวไกลไปในวันวาน ขณะภาพปัจจุบันคือความงดงามแสนเรียบง่ายที่เดินทางมาเคียงคู่การเปลี่ยนแปลง จะว่าไปเรามาที่นี่ก็ด้วยการมีอยู่ของพวกเขา คนไทยลื้อถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนอาศัยในเมืองปัวมากที่สุด มันเก่าแก่ต่อเนื่องจากการสร้างบ้านแปลงเมืองในยุคถัดมาจากที่ตำนานหรือพงศวดารได้จารึกไว้ ถึงการเติบโตของเมืองน่านในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

          จากแดนไกลในสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทยของชาวไทยลื้อมีมากมายหลายช่วงเวลาและเหตุประการ ทว่าครั้งสำคัญนั่นคือยุคฟื้นฟูบ้านเมืองของหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา หลังจากที่ล้านนาเข้าสวามิภักดิ์กับกรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่เรียกกันว่าเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง


 "คนลื้อเมืองปัวสำเนียงพูดเหมือนคนไทยยองแถบลำพูนนะ ไม่เหมือนลื้อแถบสองแคว หรือทางเชียงคำ พะเยาโน่น" เราพบกับ ลุงณรงค์ มานะกิจ ก็ต่อเมื่อปลายเย็นผลักปล่อยลุงมาจากการงานในไร่นา ชายชราเชื้อสายลื้อเมืองปัวใบหน้าไม่คล้ายคนเหนือนัก ว่ากันเฉพาะในขอบเขตเมืองน่านคนไทยลื้ออพยพเข้ามาหลากหลายทิศทาง เช่นไทยลื้อที่เมืองปัวนั้นมาจากเมืองยู้ เมืองยอง เมืองเชียงลาบ ในแถบรัฐฉาน เรียกกันว่าไทยลื้อสิบสองปันนาตะวันตก และมีส่วนที่เข้ามาทาง สปป.ลาว จากเมืองล้า เมืองมาง "พวกนั้นเขาพูดปนลาว ปนพวนก็มี"

          หน้าเรือนไทยลื้อจำลองริมถนนสายสงบเส้นนั้น รอบด้านถูกโอลบล้อมด้วยบ้านเรือนมั่นคง ทั้งแบบไม้ดั้งเดิมและที่เดิมและที่ต่อไปในกาลเวลาปัจจุบัน ค่อย ๆ เดินตามชายชราขึ้นไปบนเรือนไทยลื้อ คล้ายข้าวของและสัดส่วนของเรือนไม้ยังคงมีชีวิตผ่านคำพูดของลุงณรงค์ เรือนยกพื้นสูงเชื่อมโยงคลี่คลุมด้วยหลังคาผืนใหญ่ที่ต่อชายคายื่นยาว

          "เรือนไทยลื้อไม่นิยมทำราวกันตก โบราณเขามักทำม้านั่งยาวโดยรอบ" ลุงเล่าเพลิน ขณะใครสักคนก้มลงมอง "แม่ตาฟืน" ที่เป็นกระบะไม้คาดดินเหนียว และส่วนของ "จานกอน" หรือลานซักล้างที่ยื่นออกไป หลายส่วนล้วนเต็มไปด้วยความหมายและเหตุผลของการมีอยู่ แม้ในทุกวันนี้ เรือนไทยลื้อโบราณจะหาดูได้ยากในชีวิตจริงที่เติบโตมั่นคง ไม่เพียงแต่บ้านร้องแง แต่หมายถึงหมู่บ้านไทยลื้อที่กระจัดกระจายรายรอบไปแทบทั้งเมืองปัว หากแต่สิ่งใดกันแน่ที่ขับเคลื่อนให้พวกเขายังดำรงอยู่กันได้อย่างคนมีตัวตน

          เราคล้ายพบภาพเหล่านั้นบนผืนผ้าทอของหญิงชราในหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่ไกลจากบ้านร้องแง

          "จริง ๆ ก็ทอ ก็มีผ้ากันทุกบ้านละ ที่มามันเดียวกันแต่รุ่นปู่ย่า" ที่บ้านเก็ตต่อหน้ากี่โบราณที่ยังคงสอดสานกระสวยนำเส้นฝ้ายหลายสี แม่บุญเตียม มูนคำ ยังคงรู้สึกว่าผ้าทอนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับหญิงไทยลื้อไม่จางคลาย ลวดลายโบราณที่แม่เรียก "ลายเหลียวผิด" เติมต่อด้วย "มุกสถาน" ยังคงถูกหญิงชราแห่งบ้านเก็ตถักทอ ตราบเท่าที่เสื้อปั๊ดและซิ่นต๋อลื้อของหญิงไทยลื้อยังคงถูกใช้ในชีวิตจริง

          "คนอื่นเขาเรียกรวม ๆ ว่าลายน้ำไหล แต่เอาเข้าจริงมันละเอียดกว่านั้น" แม่บุญเตียมเดินเข้าไปในบ้าน หยิบชุดที่เตรียมไปออกงานในไม่กี่วันข้างหน้า มันเป็นซิ่นลื้อธรรมดาที่หาได้ละเอียดลออเหมือนบางผืนที่แม่ส่งไปประกวดยังต่างเมือง ทว่ากับบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในผืนผ้าย้อมครามแบบโบราณอันตกทอดมาจากปู่ย่าตาทวด โลกของวันคืนก่อนเก่าก็คล้ายมีที่ทาง และไม่เคยตกหล่นไปตามวันเวลา



3. ภาพบางภาพสะท้อนชีวิตเรียบง่ายของคนไทยลื้อซึ่งแยกไม่ออกกับผืนแผ่นดินและพระพุทธศาสนา

          บนหนทางสายเล็กสายน้อยที่เชื่อมบ้านร้องแงเข้ากับหมู่บ้านไทยลื้ออีกหลากหลายหมู่ในพื้นที่ 3 ตำบล อย่างตำบลวรนคร ศิลาเพชร และตำบลศิลาแลง ในเช้ามืดที่หมอกหนาคลี่คลุม เราจะอิ่มเอมกับหมู่บ้านกลางหุบดอยที่งดงามในท้องฟ้าต้นฤดูหนาว มีน้ำหลายสายราวเครือข่ายเชื่อมโยงชีวิตเข้ากับแผ่นดิน อย่างลำน้ำปัว ลำน้ำขว้าง ลำน้ำย่าง ลำน้ำกูน รวมไปถึงแม่น้ำน่าน มันเต็มไปด้วยเรื่องราวของเมืองเก่าในหุบเขาอันน่าหลงใหล

          สองฟากถนนสายหลักเผยให้เห็นกลุ่มบ้านไม้ริมถนน รวมถึงซอกซอยที่เชื่อมถึงกันหมด ที่ต่างก็ซุกซ่อนชีวิตเรียบง่ายและเป็นหนึ่งเดียวของพวกเขาอย่างบ้านเก็ต บ้านเฮียะ บ้านหัวน้ำ บ้านป่าล่าน และอีกหลากหลาย

          เลาะเลยกันไปในที่ราบซึ่งโอบล้อม ทุ่งนากลายเป็นสีน้ำตาลหลังฤดูเก็บเกี่ยวพ้นผ่าน สังคมเกษตรกรรมที่ปัดดำรงอยู่มาเนิ่นนาน มันถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่ากับการเปลี่ยนเวียนพืชผักที่สลับกับนาข้าว ที่ วัดภูเก็ต มุมสูงเหนือเนินเขาเปิดวิวกระจ่างตาของภาพการเกษตรอันเป็นวิถีดำรงตนอันคงทนให้เป็นภาพงดงาน หลังเกี่ยวข้าวเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ไม่มีใครตื่นสายเพราะงานในไร่นานั้นคือหนทางหล่อหลอม มองไปทางไหนล้วนเต็มไปด้วยที่ราบแผ่ไพศาลด้วยสีเหลืองทองของซังข้าวที่พวกเขาเหลือไว้คลุมหน้าดิน สลับกับสีน้ำตาลแห่งผืนดินที่ผ่านการพลิกฟื้น แทรกแซมด้วยสีเขียวของกระเทียม ถั่วเหลือง หรือผักใบและใบยาสูบที่สลับกันแตกยอดอยู่ในที่ดินผืนเดิม

          บางเช้าเรายืนมองวิหารของ วัดร้องแง อันงดงามด้วยโครงสร้างและเชิงชั้นลดหลั่นของหลังคาอุโบสถศิลปะไทยลื้อหลังคร่ำคร่า ที่ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดอาราม โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2550 มันสงบงามพอ ๆ กับที่สามเณรนับสิบรูปเดินลับหายไปในคุ้มบ้านที่โอบล้อม ชื่อบ้านร้องแงอันมีที่มาจาก "ฮ่องแง" ที่เชื่อกันว่ามาจากร่องน้ำที่มีต้นแง อันมีผลคล้ายส้มขึ้นดกดื่น สะท้อนความสมบรูณ์ในการตั้งชุมชนในอดีต

          ข้ามฟากทางหลวงหมายเลข 1018 ไปสู่ วัดต้นแหลง หมู่บ้านเก่าแก่ที่เป็นที่อาศัยของคนเมือง ทว่าวัดเก่าแก่ศิลปะไทยลื้อพื้นบ้าน บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนคนไทยลื้อในยุคอพยพมาจากสิบสองปันนาในยุคแรก ๆ มันสะท้อนเชิงช่างและตัวตนอันเรียบง่ายงดงาม หลังคาซ้อนลดหลั่นอันเป็นเอกลักษณ์ผสานเข้ากับส่วนประดับตกแต่งละเอียดลออด้วยงานไม้ ทั้งหน้าบันที่ประดับเรียงเป็นรัศมี ตกแต่งเชิงชายและชายน้ำด้วยไม้ซี่รายรอบ มุงหลังคาแป้นเกล็ดไม้สีขรึมเข้ม

          ผืนแผ่นดินโบราณเต็มแน่นอยู่ด้วยเรื่องราวและคืนวันอันแสนยาวนานของผู้คนไทยลื้อแห่งเมืองปัว มันงดงามและดำเนินไปอย่างไม่รีบเร่ง เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมให้ใครสักคนได้ใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยในการค่อย ๆ ทำความรู้จักเขา

          ยามสายที่เรือนไทยลื้อหลังเดิมของบ้านร้องแง แม่อุ๊ยหลายคนรายล้อมอยู่ใต้ถุนเรือน พวกเธอเล่าเรื่องของการทำมาหากินในอดีตผ่าน "ครกมอง" ครกกระเดื่องไม้ที่เต็มไปด้วยภาพหญิงของหญิงไทยลื้อที่กลมเกลียวในงานครัว เมล็ดข้าวเหนียวถูกตำจนจนกลายเป็นแป้งร่วน ก่อนที่จะผสมน้ำและสุกนิ่มบนผ้าขาวบาง กลายเป็นข้าวแคบให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มชิม

          "แต่ก่อนมีแต่ทางเดินทางเกวียน เกลือนี่ต้องเดินต่างม้าต่างลาขึ้นภูคาผ่านไปเอาถึงบ่อเกลือ" ใครสักคนฉายภาพบ้านดอยแดนไกลในอดีต ซึ่งมันเต็มไปด้วยภาพที่หล่นพ้นผ่านไปกับกาลเวลา ไม่มีชีวิตใดคงทนดำรงอยู่ได้ในนามของการเปลี่ยนแปลงและย่อยสลายอย่างเงียบ ๆ ของคืนวัน แต่สำหรับคนที่นี่ บางทีพวกเขาก็ทะนุถนอมมันไว้ในหลายส่วนเสี้ยว

          อยู่ลำห้วยและผืนนา อยู่ในลวดลายของผ้าทอผืนสวย แทรกซ่อนอยู่กับการกินอยู่และศรัทธาในพระพุทธศาสนา และบางทีก็อาจฝังลึกอยู่ในซอกมุมของความทรงจำ


4. เครื่องเงินละเอียดวิจิตรหลายชิ้น นำเราให้ลัดเลาะขึ้นไปสู่หมู่บ้านในหุบเขาของเมืองปัว

          ในวันที่แดดใสสดอาบไล้ระบายยามสายเป็นความสดใส เราพบตัวเองปะปนอยู่กับพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้งและเมี่ยนแห่งบ้านป่ากลาง ราวโลกคนละใบกับคนพื้นราบ ที่นี่เต็มไปด้วยคืนวันหนาวเย็นแห่งหุบเขา หว่าการปักหลักและดำเนินชีวิตนั้นแสนอบอุ่น

          ผ่านพ้น "อ่างเก็บน้ำนิวซีแลนด์" ที่คนบ้านป่ากลางเรียกขานจนคุ้นปาก จากการได้รับทุนสนับสนุนในการจัดสร้างโดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ หลังชาวไทยภูเขาเลือกลงมาจาก"ข้างบน" ชีวิตที่เคยจับปืนสู้รบในสมัยสงครามอุดมการณ์ยังคุกรุ่น วันนี้เหลือเพียงทางเดินร่วมกันในขุนเขาเมืองปัว

          งานปีใหม่ม้งชักพาให้หนุ่มสาวกลับบ้านมารื่นเริง และเคลื่อนหมุนวัฒนธรรมเก่าแก่เคียงข้างไปกับวันเวลาปัจจุบัน เราเดินปะปนไปในสีสันของเสื้อผ้าและเครื่องประดับของหนุ่มสาว ดูการเต้นและถามตอบหยอกล้อแบบในอดีต ที่ถูกปรับเปลี่ยนปะปนกับเสียงเพลงร่วมสมัย แววตาของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปทั้งการศึกษาและการงานร่วมเปล่งประกายเป็นหนึ่งเดียวกับคนรุ่นพ่อแม่ ที่เคยผ่านทั้งศึกสงครามและปักหลักทำกินในยุดแรกตั้งหมู่บ้าน

          บ้านป่ากลางกระจายปะปนกันทั้งคนม้งและคนเมี่ยน ทักษะและความประณีตในงานเครื่องเงินก่อเกิดเป็นร้านรวงทันสมัยเรียงรายตรงสี่แยกหลัก เอกลักษณ์หนึ่งของเมืองน่านมี "ต้นทาง" อยู่กลางหุบเขา ซอกซอยสามสี่เส้นแยกบ้านคนเมี่ยนออกจากคนม้ง มันราวคนละโลกกับงานรื่นเริงยามสาย บ้านไม้สมถะสะอาดสะอ้านเต็มไปด้วยหญิงชรานุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำปักลวดลายงดงามไหมพรมสีแดงประดับคอเสื้อร วมไปถึงผ้าพันศีรษะนั้นโชว์ชายผ้าที่ปักทั้งสองด้านให้โผล่ขึ้นมาราวหูกวาง

          ฝีมือการทำเครื่องเงินของชาวเมี่ยนตกทอดเป็นการงานอันละเอียดอ่อน เม็ดเงินเรียงรายในกระบะไม้ที่หน้าบ้าน หญิงชราอย่าง ใหญ่เชา แซ่เต็น ยังคงพบว่า แม้ต้นทุนการเงินดิบเริ่มสูงขึ้น แต่งานมือตรงหน้านั้นไม่อาจละเลิกหันหายไปได้

          "นอกจากเพาะปลูก ก็ทำเงินนี่ละที่ทำให้อยู่กินได้" เธอเปรยเบา ๆ ขณะดวงตาจดจ่ออยู่ที่ห่วงสีเงินยวงซึ่งค่อย ๆ ถักเรียงจนเป็นเส้นสาย

          บ้านไม้คงทนหลังนั้นมี "ประตูใหญ่" อยู่ด้านหน้าตามคติของคนเมี่ยนโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นประตูศักดิ์สิทธ์ มันจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อมีพิธีการสำคัญอย่างส่งลูกสาวไปงานแต่งหรือรับเจ้าสาวเข้าบ้าน หรือไม่ก็เพื่อนำศพออกจากบ้านหรือทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้าย ประตูข้าง ๆ นั่นต่างหาก ที่พวกเขาใช้จริงในชีวิตประจำวัน

          กล่าวสำหรับคนเมี่ยนหรือเย้านั้น เผ่าพันธุ์ที่ถูกจัดให้อยู่ในเชื้อชาติมองโกลลอยด์ ตระกูลจีนทิเบต ตกทอดอดีตมาแสนยาวไกลนับพันปี จากถิ่นฐานที่ราบรายรอบทะเลสาบตงถิง แถบแม่น้ำแยงซี พวกเขาอพยพโยกย้ายไปทั้งในเขตสูง หรือเลาะลงใต้ไปสู่ดินแดนใหม่ พกพาความคิดความเชื่อทั้งการเคารพผีบรรพบุรุษ ตลอดจนความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ตกทอดมาสู่วัฒนธรรมอันเป็นตัวของตัวเองทั้งภาษาและการแต่งกาย

          "คำว่าเมี่ยนนั่นแปลได้ว่ามนุษย์" แม่ใหญ่เชาบอกกับเราก่อนจากออกมา มันอาจกินความได้ถึงความเท่าเทียมคนคนหนึ่ง ไม่ว่าชีวิตจะพลิกผันระหกระเหินจากถิ่นเกิดไปไกลสักเพียงใด หากใครสักคนค้นพบที่ทางฝากฝังใจกายในนามของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นอาจเต็มไปด้วยความนึกหวังถึงสิ่งที่เรียกว่าความเท่าเทียม


5. ทางดอยสายนั้นเริ่มชันขึ้นเมื่อเราพาตัวเองผ่านทางดำมาจากบ้านหัวน้ำ มันพารถกระบะโฟร์วีลของมิตรใหม่อย่าง ธนากิจ ชินกิจการ เชิดหัวและหายลับไปในทางดอย

          หลังพบเจอกันในบ่ายวันหนึ่ง เดินลัดจากฟาร์มเห็ดและที่พักแสนอบอุ่นของเขาไปเยือน วังศิลาแลง ที่สายน้ำกูนไหลรื่นผ่านโตรกผาปรากฏเป็นภาพตื่นตาลึกลับ ธนากิจชวนเราขึ้นไปหาทะเลภูเขาในเทือกเขาดอยภูคา วิวกระจ่างกว้างไกลเปิดภาพพานอรามาของขุนเขาเมืองปัว มันซ้อนทับทั้งความงดงามและการเปลี่ยนผ่าน จากป่าทึบสู่ไร่ข้าวโพดไพศาล จากบ้านป่าที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนที่แตกต่างทางอุดมการณ์ความคิด สู่วันที่หมู่บ้านเล็ก ๆ กลายเป็นที่ทางของความเป็นอยู่ร่วมกันที่ใฝ่ฝันถึงวันข้างหน้า

          ไม่นานนักเราไต่ถึงบ้านผาเวียงหมู่บ้านชาวลัวะบนสันเขา รอบด้านคือความสมถะเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด บ้านเรือนกระจายตัวกันไปตามไหล่ดอย ตกหล่นเป็นภาพหากินเคียงข้าง ทั้งพื้นที่เพาะปลูกและรูปแบบชีวิตตามแดนดอย หญิงสักคนจ่อมจมอยู่กับการซอยใบยาสูบที่เพิ่งสูบที่เพิ่งแห้งแดด ขณะพวกผู้ชายนั้นหายไปในไร่ตั้งแต่รุ่งเช้า ภาษาพูดและรูปแบบวัฒนธรรมแยกคนลัวะเมืองน่านออกจากลัวะทางเชียงใหม่อย่างเป็นตัวของตัวเอง และโดยแท้จริงแล้วคนลัวะในจังหวัดน่านยังแยกย่อยตัวเองออกตามความเชื่อได้เป็น 2 กลุ่ม คือ มัลและปรัย โดยเรียกกันอีกชื่อหนึ่งได้ว่าลัวะสโลดและลัวะดอกแดง โดยมัลนั้นคือสโลด และปรัยคือดอกแดง

ชีวิตกลางป่าเขาหลังขับเคลื่อนตัวเองมาจากสันดอยในเขต สปป.ลาว สู่แผ่นดินไทยผ่านการดิ้นรนทนสู้ ทั้งฟ้าดินฤดูกาล และการได้รับการยอมรับจากคนข้างล่าง ผ่านยุคต่อสู้เมื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ที่ภูพยัคฆ์แถบอำเภอเฉลิมพระเกียรติ สู้วันที่หนทางเดินมาสู้กาลปัจจุบันกลับกลายเป็นการลงหลักปักฐานและอยู่กินกันไปตามชีวิตขุนเขา

          ในวันที่เสียงปืนสิ้นสงบ ไม่เพียงบ้านผาเวียงแต่หมายถึงหมายหมู่บ้านของคนลัวะที่กระจายตัวกันเป็นผู้คนแห่งแดนดอย พวกเขาคล้ายค้นพบว่าชีวิตที่ผูกพันกับฝนฟ้าและป่าเขานั้นมั่นคงยั่งยืนกว่าหลายแนวคิดที่พวกเขาเคยเลือกเดิน มันก่อเกิดเป็นภาพเรียบง่ายและพึ่งพากันระหว่างคนภูเขาภูเขาและคนพื้นราบที่ใครหลายคนก็ไม่มีโอกาสจะตัดสินชี้วัด

          "นอกจากความงามที่นี่มันเต็มไปด้วยไมตรีและความถ้อยอาศัย" ธนากิจตอบผมครั้งเมื่อถามว่าเหตุใดถึงเลือกจากชีวิตเมืองและมาเป็นเกษตรกรอยู่ที่ปัว

          นาทีเช่นนั้นผมคิดถึงคืนวันในอดีตของเมืองกลางขุนเขาวันที่เฒ่าชาวไทยลื้อสักคนเลือกแผ่นดินสักผืนเพื่อสร้างเรือนโบราณ วันที่หญิงชาวเมี่ยนตอกตีลวดลายสักชนิดลงบนเครื่องเงินโบราณ วันที่เหล่าพี่น้องชาวลัวะรู้สึกว่าภูเขารายล้อมไม่ได้เป็นเพียงที่เพาะปลูก หากแต่เห็นเป็นบ้านหลังอบอุ่น ขณะที่คลื่นขุนเขาของเมืองปัวค่อย ๆ หลอมเลือนหลายภาพที่แตกต่างแยกย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว

ขอขอบคุณ

          คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ และ ททท. สำนักงานแพร่ สำหรับการประสานงานอย่างเยี่ยมยอด

          คุณธนากิจ ชินกิจการ และบ้านพักผาเก๊าะ-น้ำกูน (ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ) สำหรับการต้อนรับดูแลอย่างอบอุ่น
       
          คุณพัชรินทร์ กะรัตน์ แด่มิตรภาพ ความช่วยเหลือ และน้ำใจแสนดีงาม

คู่มือนักเดินทาง

          อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นบ้านกลางขุนเขาที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติแสนงดงาม เป็นที่อยู่ของผู้คนอันหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งคนไทยลื้อ ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เมี่ยน และลัวะ ท่ามกลางบรรยากาศไร่นาเขียวขจีห้อมล้อมด้วยขุนเขาหมอกหนาวและอากาศฉ่ำเย็น

          เลือกมาเที่ยวปัว เที่ยวชมวัฒนธรรมไทยลื้อได้ที่บ้านร้องแง ชมวัดศิลปะไทยลื้องดงามที่วัดร้องแงชมเรือนไทยลื้อจำลอง หรือไปเที่ยวชมวัดต้นแหลงที่สวยงาม ด้วยงานประดับตกแต่งเครื่องไม้ของพระอุโบสถ

          เที่ยววัดภูเก็ต จุดชมวิวในเขตอำเภอปัว เลือกซื้อผ้าทอของคนไทยลื้อได้ทุกหมู่บ้าน ทั้งบ้านเก็ต บ้านเฮียะ บ้านร้องแง บ้านดอนแก้ว

          ขึ้นไปชมวิวเมืองน่านที่วัดพระธาตุเบ็งสกัด สักการะเจดีย์และวัดไทยลื้อสวยงามด้านบน

การเดินทาง

          จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ไปจนถึงจังหวัดพิษณุโลก จากจังหวัดพิษณุโลกใช้ทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่านและจากตัวอำเภอเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงอำเภอปัว รวมระยะทางประมาณ 728 กิโลเมตร

นอนอุ่น

          อำเภอปัวมีที่พักมากมายให้เลือกสัมผัส หากยากลองพักแรมในความหนาวเย็น วิวทุ่งนากว้างไกลในโอบล้อมขุนเขา แนะนำบ้านพักผาเก๊าะ-น้ำกูน (ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ) โทรศัพท์ 0 5479 2252 และ 08 1005 1533 เว็บไซต์ www.huanamhomestay.com

          พักหมู่บ้านไยลื้อที่บ้านร้องแง เที่ยวชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันสงบงามในท่ามกลางทุ่งนาและอากาศหนาวเย็นรายรอบ ขุนปัวโฮมสเตย์ แอนด์ รีสอร์ท โทรศัพท์ 08 9554 0545 และ 08 1960 9251

ชวนอร่อย

          ที่ตัวอำเภอปัวมีอาหารรสชาติดีให้ลิ้มลองมากมาย ร้านอร่อยอยู่แถบสามแยกใกล้ปั๊มน้ำมัน ปตท. แนะนำร้านครัวเจ๊ต้อย@ปัว ผัดไทย อาหารตามสั่ง และอาหารเหนือรสชาติดี

          ร้านก๋วยเตี๋ยวต้นหูกวาง ร้านเก่าแก่ของปัว ก๋วยเตี๋ยวหมูอร่อย ข้าวขาหมูนุ่มลิ้น

          ร้านกาแฟมณีฤกษ์ เสิร์ฟกาแฟอะราบิกาหลากหลายเมนู ที่มีแหล่งปลูกบนดอยมณีพฤกษ์ แถบอำเภอทุ่งช้าง ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์จากสถานีเกษตรที่สูงจำหน่าย เช่น มัลเบอร์รีอบแห้ง น้ำมัลเบอร์รีสกัดเข้มข้น รวมไปถึงผักผลไม้เมืองหนาวตามฤดูกาล

ที่มา http://www.doodiza.com/news5276.html

0 comments:

Post a Comment